Print this page

วิสัยทัศน์-พันธกิจ

     

คำแถลงนโยบาย

วิสัยทัศน์ (Vision)

     “ เ ท พ ว ง ศ า พั ฒ น า ” T H E P W O N G S A P A T T A N A

พันธกิจ (Mission)

     “

“ เทศบาลตำบลเทพวงศา ต้องเป็นองค์กรพร้อมรับใช้ประชาชน มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรมในทุกมิติอย่างยั่งยืน ภายใต้ข้อจำกัดและการเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการปรับตัวเข้าสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยุคใหม่ และชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) โดยยึดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เป็นเป้าหมาย ”

     “ Thep Wongsa Sub-district Municipality Must be an organization ready to serve the people There is continuous, concrete development in all dimensions sustainably. Subject to the limitations and changes thereof all the time. Including adaptation to the new local government organization And a new way of life ( New Normal ), based on results that are directly and indirectly beneficial to the people. ".

นโยบาย ( Policies )

     

“ เรียนท่านประธานสภา ท่านรองประธานสภา ท่านเลขานุการสภา ท่านสมาชิกสภาเทศบาลตำบลเทพวงศา ผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ด้วยความเคารพ กระผม นายอลงกต แสวงสุข นายกเทศมนตรีตำบลเทพวงศา ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากชาวเทศบาลตำบลเทพวงศา ในวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๔ พร้อมๆกับทุกท่านและได้รับการรับรองผลการเลือกจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๔ พวกเราเป็นตัวแทนที่ประชาชนได้มอบความไว้วางใจให้เข้ามาทำหน้าที่ ตามที่เราอาสาเข้ามา

     

ดังนั้นการทำงานของเราจึงมีความคล้ายคลึงกันและมีเป้าหมายอันเดียวกันคือ เทศบาลตำบลเทพวงศาของเราทุกคนต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม นั่นคือสิ่งแรกที่ผมอยากจะกราบเรียนกับทุกท่าน อ้างถึง พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.๒๔๙๖ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๖๒ บทที่ ๒ ทวิ มาตรา ๔๘ ทศ ก่อนนายกเทศมนตรีเข้ารับหน้าที่ ให้นายกเทศมนตรีแถลงนโยบายต่อสภาเทศบาล ดังนั้นกระผมจึงได้กำหนดแนวนโยบาย รวมถึงวิสัยทัศน์ พันธกิจ ซึ่งเป็นไปตามตามแนวทางที่ได้กำหนดเป็นพันธะสัญญาประชาคมให้กับราษฎร

     

ในช่วงที่หาเสียงเลือกตั้งในห้วงที่ผ่านมา ดังแนวทางคือ สี่ปีที่เดินหน้า สี่ปีที่มุ่งมั่นพัฒนา อย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม มุ่งสู่เมืองแห่งการพัฒนา เขมราษฎร์เทพวงศาธานี โดยยึดหลักการปฏิบัติงานในภารกิจหลักตามนโยบายหรือแผนยุทธศาสตร์ของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สอดประสานกับหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง หน่วยงานฝ่ายปกครอง รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับทุกหน่วยงาน กระทรวงทบวงกรม หรือแม้แต่การสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน

     

องค์กรเทศบาลตำบลเทพวงศา ต้องพัฒนาศักยภาพของตนเอง ประเมินศักยภาพของตนเองในภาพรวม ประเมินสถานการณ์ หรือผลกระทบต่างๆจากการดำเนินนโยบายแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทบวงกรมต่างๆ หรือแม้แต่แนวนโยบายของรัฐบาล

     

เทศบาลตำบลเทพวงศาต้องมีความพร้อมต่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทุกสถานการณ์ในทุกมิติ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการปฎิรูปด้านการปกครองส่วนท้องถิ่นของสภาปฎิรูปแห่งชาติ ที่มุงหวังให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอำนาจจัดการดูแลกิจการหลายๆ ด้านของตนเองอย่างเหมาะสม มีการกระจายอำนาจการตัดสินใจ การสั่งการ บริหารและกำกับดูแลเพื่อให้ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการตนเองได้อย่างอิสระและมีประสิทธิภาพ บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ให้ประชาชนได้ร่วมพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง ตามแนวทางในระบอบประชาธิปไตย เช่น การร่วมคิด ร่วมแก้ไขปัญหา การสะท้อนปัญหาความเดือดร้อน ร่วมกำหนดทิศทางในการพัฒนา เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่สำคัญสูงสุดคือ เพื่อตอบสนองความคาดหวังของประชาชน รวมถึงส่งเสริมให้เกิดความสามัคคี ความร่วมมือระหว่างฝ่ายข้าราชการการเมือง (ผู้บริหารท้องถิ่น,สมาชิกสภาท้องถิ่น) ,ฝ่ายพนักงานเทศบาล,ฝ่ายผู้นำชุมชน เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดต่อชุมชนในปัจจุบันตลอดถึงอนาคตในภายหน้า อันจะส่งผลดีต่อเทศบาลตำบลเทพวงศา มุ่งสู่เมืองแห่งการพัฒนา เขมราษฎร์เทพวงศาธานี โดยยึดถือ พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๖๒ ทั้งฉบับ และโดยเฉพาะมาตรา ๕๐ มาตรา ๕๑ , พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๖ กระผมจึงได้กำหนดนโยบายไว้ ๖ ด้านดังนี้

     

“๑. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน

     

พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อมของชุมชน หมู่บ้าน เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนรวมถึงเป็นการวางรากฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืนดังนี้

     

๑.๑ เร่งดำเนินการก่อสร้าง,ปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานเช่น ทางสาธารณประโยชน์,น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค, ระบบไฟฟ้า รวมถึงระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ต่างๆ ให้ได้มาตรฐานและเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนและชุมชนที่ขยายตัวในอนาคต

     

๑.๒ บูรณะซ่อมแซมพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนที่ชำรุดเสียหายจากการใช้งานและภัยพิบัติต่างๆ เช่น ทางสาธารณะประโยชน์ ทางระบายน้ำ ถนนเพื่อขนส่งพืชผลทางการเกษตรของเกษตรกร ในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลเทพวงศา รวมถึงจุดเชื่อมต่อกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น

     

๑.๓ ใช้งบประมาณในการขยายเขตไฟฟ้าแรงต่ำ ปรับปรุงไฟฟ้าสาธารณะแสงสว่าง ในเขตเทศบาลให้มีอย่างทั่วถึงคลอบคลุม เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งในส่วนที่ดำเนินการเองโดยเทศบาลและอุดหนุนงบประมาณไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

     

๑.๔ ติดตั้งระบบไฟสัญญาณจราจร,เครื่องหมายจราจร,หรือประสานงบประมาณจากหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวเพื่อดำเนินการ ซึ่งต้องเป็นดำเนินการในเขตพื้นที่รับผิดชอบของเทศบาลตำบลเทพวงศา โดยเน้นจุดที่สร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้สัญจรไปมาตามท้องถนน เช่น ทางร่วม, ทางแยก, ปากทางเข้าหมู่บ้าน, ตามเส้นทาง ทางหลวงจังหวัด,ทางหลวงชนบท,ทางหลวงท้องถิ่น เป็นต้น

     

๑.๕ ก่อสร้างปรับปรุงระบบน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค รวมถึงแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่รับผิดชอบของเทศบาลตำบลเทพวงศา ,เร่งแก้ไขปัญหาร่วมกับชุมชนในการบริหารจัดการระบบประปาหมู่บ้าน รวมถึงสนับสุนนงบประมาณในการดูแลระบบประปาหมู่บ้าน โดยยึดหลักการให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการภายในหมู่บ้านของตนเองเป็นหลัก

     

๑.๖ ประสานงานกับหน่วยงานในระดับ กระทรวง ทบวง กรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในทุกระดับ ,นักการเมืองระดับชาติ,ระดับท้องถิ่น หน่วยงานที่มีศักยภาพ เพื่อผลักดันงบประมาณ, ประสานการปฏิบัติ ,รวมถึงเครื่องจักรกลต่างๆ ในการก่อสร้างปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนคอนกรีต ถนนลาดยาง ถนนลูกรังมาตรฐาน พัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติ แหล่งกักเก็บน้ำ แหล่งผลิตน้ำประปา น้ำเพื่อการเกษตร ขุดลอกแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ เป็นต้น

     

๒. ด้านเศรษฐกิจ

     

เสริมสร้างสนับสนุนอาชีพ กลุ่มอาชีพ กลุ่มเกษตรกร เพื่อพัฒนารายได้ให้กับชุมชน เกษตรกร ส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับครัวเรือน ระดับชุมชน ให้มีความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แห่งองค์พ่อหลวงรัชกาลที่ ๙ , สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑๐ ของปวงชนชาวไทย ทรงพระราชทานแนวคิดและพระราชดำริ ในการพัฒนาความเจริญและความสุขให้แก่ประเทศชาติและประชาชน ได้แก่ น้ำคือชีวิต แผ่นดิน,พิทักษ์ป่าพัฒนาสินสายน้ำ,พืชพันธุ์ปลุกชีวิตมั่นคง,เศรษฐกิจพอเพียงนำชีวิต และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้องในด้านนี้เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน ดังนี้

     

๒.๑ ส่งเสริมให้มีตลาดน้ำริมโขงแห่งแรกของประเทศไทย ให้เป็นตลาดวัฒนธรรมที่สะท้อน อัตลักษณ์วิถีชีวิตของชาวลุ่มน้ำโขง เป็นแหล่งศูนย์รวมของการจับจ่ายซื้อขายสินค้าอุปโภค บริโภค ทางวัฒนธรรมที่สะท้อนความรุ่มรวยของสินค้าพื้นถิ่นริมโขง เกิดการค้าขายหมุนเวียนเศรษฐกิจของชุมชน และกระจายความเจริญไปยังพื้นที่หมู่บ้านที่อยู่ริมแม่น้ำโขงเทศบาลตำบลเทพวงศา เช่น บ้านห้วยยาง,บ้านบุ่งซวย อื่นๆ เป็นต้น

     

๒.๒ สนับสนุน เสริมสร้าง ผลักดันให้มีกระบวนการสร้างรายได้ให้กับประชาชนในทุกระดับ ส่งเสริมแนวทางหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามศักยภาพชุมชน เพื่อสร้างรายได้ในระดับครอบครัว และส่งเสริมให้มีการรวมตัวเพื่อดำเนินการเศรษฐกิจชุมชนให้มีการกระจายรายได้ไปสู่ประชาชนในท้องถิ่น

     

๒.๓ ให้ความสำคัญแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ก่อสร้างจุดรวมน้ำ ขุดลอกลำห้วย หนอง คลอง บึง ฝายชะลอน้ำ ต่อยอดการส่งน้ำระบบท่อ รวมกลุ่มผู้ใช้น้ำทางเกษตรให้เข้มแข็ง โดยประสานงานกับหน่วยงานในทุกระดับ ทั้งในพื้นที่ นอกพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ จังหวัดอุบลราชธานี หน่วยงานในระดับกระทรวง ทบวง กรม เพื่อนำน้ำจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ มาใช้เพื่อการผลิตพืชผลทางการเกษตร และรวมถึงการจัดหาพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อปล่อยตามแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง

     

๒.4 สนับสนุนกลุ่มอาชีพให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ให้ผลิตสินค้าเพื่อเพิ่มรายได้ อย่างเป็นรูปธรรมมีความและมีความเป็นสากลมากขึ้น เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และรวมถึงการส่งเสริมรูปแบบสหกรณ์เพื่อความเข้มแข็งแก่ชุมชนสอดคล้องกับกลุ่มผู้ผลิตสินค้า หรือกลุ่มแม่บ้าน เน้นการต่อยอดจากกลุ่มชุมชนที่ได้ดำเนินการมาก่อน หรือที่มีความคิดริเริ่มในเรื่องดังกล่าว

     

๒.๕ จัดหาเครื่องจักรกลทางการเกษตร,เครื่องจักรกลต่างๆ โดยประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด, หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา, เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ ในการปรับปรุงพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

     

๒.๖ มีความชัดเจนและจริงใจในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน รวมถึงประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ,กระทรวงทบวงกรมต่างๆ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบเทศบาลตำบลเทพวงศา เช่น ทะเบียนสาธารณะประโยชน์ ,ป่าสงวนแห่งชาติ เป็นต้น เพื่อเป็นการสร้างหลักประกัน ความมั่นคงในชีวิต และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ เป็นต้น

     

๒.๗ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในระดับพื้นที่ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลเทพวงศา เช่น แก่งช้างหมอบ (บ้านห้วยยาง),ลำห้วยบังโกย (ตลอดลำห้วย) แก่งพะลานเหล็ก (บ้านสามแยกถ้ำเสือ) แซลำห้วยซัน(โนนเตาถ่าน) เป็นต้น อันจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่

     

๓. ด้านสังคม

     

     

๓.๑ ให้ความสำคัญแก่ เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ให้มีความเสมอภาค เท่าเทียม เป็นหน่วยงานในการเชื่อมประสาน เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงหน่วยงานที่ให้การช่วยเหลือ กลุ่มดังกล่าว

     

๓.๒ ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งบริการทางสาธารณสุขมากยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสร้างให้ประชาชนเป็นผู้มีสุขภาพพลานามัยที่ดี มีความรู้ความเข้าใจตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกัน การดูแลรักษาสุขภาพพลานามัย ตนเองและครอบครัว

     

๓.๓ ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านรวมถึงร่วมมือกับหน่วยงานด้านสาธารณสุข เพื่อยกระดับการเข้าถึงและการบริการทางด้านสาธารณสุขให้แก่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตสุขภาพกายดี สุขภาพจิตดี ประชามีสุข รวมถึงการป้องกันโรคระบาดต่างๆ เช่น COVIC 19 , ไข้เลือดออก เป็นต้น

     

๓.๔ ให้ความสำคัญกับเยาวชนในพื้นที่ เช่น เพิ่มพื้นที่สนามกีฬา , สถานที่ออกกำลังกาย รวมถึงจัดให้มีการแข่งขันกีฬา อย่างต่อเนื่อง โดยใช้กีฬาเป็นศูนย์รวมเยาวชน เพื่อสร้างเกียรติภูมิ และความภูมิใจของเยาวชน ตลอดถึงผู้ปกครอง อันส่งผลที่ดีต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับพื้นที่

     

๓.๕ ส่งเสริมสนับสนุนในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือสอดคล้องตามกรอบอำนาจหน้าที่และระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ปฏิบัติธรรม ,บรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน ,ปริวาสกรรม เป็นต้น

     

๓.๖ ปรับปรุงเสริมสร้างงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย , งานกู้ชีพ กู้ภัย ,จัดให้มีรถเพื่อปฏิบัติงานการแพทย์ฉุกเฉิน รวมถึงการประสานการปฏิบัติกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ ให้มีรถ ๑๖๖๙ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับอุบัติภัยต่างๆ อันเกิดจากการขยายตัวของชุมชนและประชากร รวมถึงภัยธรรมชาติต่างๆ ตลอดรวมถึงการปฏิบัติงานร่วมกับ องค์กรการกุศล มูลนิธิต่างๆ โดยมุ่งเน้นประโยชน์สูงสุดให้เกิดกับประชาชาชน

     

๓.๗ เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน องค์กร เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยประสานกับหน่วยงานระดับนโยบาย และหน่วยงานหลัก โดยเทศบาลเป็นผู้สนับสนุน ร่วมมือเพื่อให้องค์กร พื้นที่เทศบาลตำบลเทพวงศาปลอดจากยาเสพติด มีมุมมองที่ดีจากสังคมภายนอก

     

๔. ด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

     

๔.๑ ปรับปรุงระบบกำจัดขยะ ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ สากลทั่วไป รวมถึงมุ่งรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของชุมชนและสถานที่ต่างๆ ตลอดถึงปรับปรุงสภาพแวดล้อมในหมู่บ้านให้มีความน่าอยู่บนหลักการมีส่วนร่วมของชุมชน

     

๔.๒ ปรับปรุงภูมิทัศน์สำนักงานเทศบาล และภายในหมู่บ้าน ให้มีความร่มรื่น สวยงาม รวมถึงจัดให้มีสวนสาธารณะ สวนสุขภาพ สถานที่ออกกำลังกาย ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ของประชาชน

     

๔.๓ ป้องกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่เทศบาลเทพวงศา อนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานในอนาคต รวมถึงรณรงค์ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนรู้จักประหยัดพลังงาน เพื่อลดภาวะโลกร้อน

     

๔.๔ ให้ความสำคัญในการลดมลภาวะทางอากาศในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลเทพวงศา เช่น จัดให้มีเตาเผาขยะปลอดมลพิษ รณรงค์แก้ไขปัญหาการเผาป่าและที่นา , จัดให้มี ศาสนสถานให้ครบทุกหมู่บ้าน รองรับการขยายตัวของชุมชนเมือง

     

๕. ด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม

     

๕.๑ สนับสนุนด้านการศึกษา ให้กับสถาบันการศึกษาสังกัด สพฐ ทั้ง ๕ แห่ง ที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของเทศบาลตำบลเทพวงศา อย่างต่อเนื่องและเหมาะสม ตามกรอบอำนาจหน้าที่ และระเบียบที่ปฎิบัติที่เกี่ยวข้อง ที่พึงกระทำได้ โดยเน้นให้ประชาชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์

     

๕.๒ เสริมสร้างพัฒนาศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนในมิติใหม่เพื่อลูกหลานชาวเทพวงศา ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อวางรากฐานการศึกษา ของเด็กก่อนวัยเรียนอันจะส่งผลให้เป็นเยาวชนที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นอนาคตของชาวเทศบาลตำบลเทพวงศา วางระบบการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยสอดประสานมืออาชีพด้านการศึกษาเป็นพี่เลี้ยงในการปรับปรุง ซึ่งอาจควบรวมศูนย์ที่มีบริบทเดียวกันเป็นหนึ่งเดียวในการบริหารจัดการ เป็นต้น

     

๕.๓ ส่งเสริมการนำภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสืบสานถ่ายทอดเป็นวิทยาทานแนวความรู้สืบต่อไปในภายภาคหน้า

     

๕.๔ สืบสานการอนุรักษ์สืบทอดประเพณีอันดีงามของไทย เช่น ประเพณีลอยกระทง ประเพณีสงกรานต์ , บุญผะเหวด เป็นต้น

     

๕.๕ ส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนทำนุบำรุงพุทธศสานา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติไทย รวมถึงศาสนาต่างๆที่มีในเขตพื้นที่ เช่น ศูนย์ปฏิบัติธรรมวัดดงน้อยนาสนาม การปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์ภาคฤดูร้อน เป็นต้น

     

๕.๖ จัดให้มีการฝึกอบรมศึกษาดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ประสบการณ์ให้แก่ ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้นำชุมชน พนักงานส่วนท้องถิ่นตลอดถึงประชาชนผู้ที่คาดหวังว่าจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาท้องถิ่น

     

๕.๗ จัดตั้งโรงเรียนเทศบาลตำบลเทพวงศา แห่งที่ ๑ เพื่อนำร่องในการจัดการเรียนสอนการสอนในระดับเด็กก่อนวัยเรียน จนถึงระดับประถมศึกษาปีที่ ๖ หรืออาจถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เป็นต้น

     

๖. ด้านการเมืองและการบริหาร

ส่งเสริมการเมืองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้ในปัจจุบัน ให้ความสำคัญ การกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น จึงจำเป็นที่จะต้องเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติตามภารกิจทีเพิ่มขึ้นของเทศบาล ตลอดจนสร้างจิตสำนึกของพนักงานและลูกจ้างในการให้บริการประชาชน ให้ได้รับความสะดวก รวดเร็วและเกิดความพึงพอใจ ตามหลักธรรมาภิบาลดังนี้

     

๖.๑ สนองนโยบายสนับสนุนการดำเนินนโยบายของรัฐบาล และนโยบายของจังหวัด นโยบายของอำเภอ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

     

๖.๒ มุ่งเน้นประสิทธิภาพการปฏิบัติงานขององค์กรเทศบาล ให้สามารถบริการประชาชนด้วยความสะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม โดยเร่งพัฒนาคุณภาพของพนักงาน ลูกจ้าง ให้มีทัศนะคติและจิตสำนึกในการบริการประชาชน เพื่อยกระดับองค์กรพร้อมรับใช้ประชาชน

     

๖.๓ การบริหารจัดการองค์กรภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียง มีเหตุผล พอประมาณ สร้างภูมิคุ้มกัน และใช้หลักความรู้ คู่คุณธรรม สร้างความสามัคคีระหว่างบุคลากรในองค์กร รวมถึงฝ่ายบริหารกับฝ่ายสภามีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการมุ่งพัฒนาชุมชนเป็นหลัก

     

๖.๔ นำวิชาการเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้บริการประชาชนให้ได้รับความสะดวกเพิ่มขึ้น สมดุลกับความเจริญของบ้านเมือง รวมทั้งทบทวนระเบียบ ขั้นตอน และวิธีปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น มีประสิทธิภาพประสิทธิผล โปร่งใส ตรวจสอบได้ พร้อมทั้งมีการประเมินความพึงพอใจของประชาชนผู้ใช้บริการ

     

๖.๕ มุ่งพัฒนาบุคลากรของเทศบาล ด้านการเพิ่มทักษะ ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ ส่งเสริมให้มีการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นไป เพื่อรองรับการพัฒนาของท้องถิ่น และการขยายตัวของชุมชนรวมถึงปัญหาชุมชนในอนาคต

     

๖.๖ ปรับปรุงสถานที่ทำงาน หน่วยงานเทศบาลตำบลเทพวงศา เป็นหน่วยบริการประชาชนให้มีความเพียงพอต่อความต้องการ และมีความสะดวก สะอาดปลอดภัย ภูมิทัศน์สวยงาม บรรยากาศส่งเสริมในทำงานมากยิ่งขึ้น

     

ท่านประธานสภาเทศบาล ตลอดจนท่านสมาชิกสภาเทศบาลตำบลเทพวงศา ที่เคารพทุกท่าน ผมและคณะผู้บริหารขอเรียนว่า นโยบายที่แถลงตามเอกสารดังกล่าวข้างต้นนี้ มีทิศทางและแนวทางที่ชัดเจนไม่ขัดต่อระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังเป็นไปตามกรอบอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ล้วนมีประโยชน์ต่อประชาชน ของเราเพื่อมุ่งไปสู่อนาคตที่คาดหวังว่า เทศบาลตำบลเทพวงศาจะมีความน่าอยู่ สะดวกสบาย มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ผมจะทุ่มเทอย่างเต็มที่ในการทำงานในตำแหน่ง นายกเทศมนตรีตำบลเทพวงศา ให้บรรลุตามเป้าหมายที่สำคัญสูงสุดคือ เพื่อตอบสนองความคาดหวังของประชาชน ,ความสุขของชาวเทศบาลตำบลเทพวงศา กระผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบรรยากาศแห่งความสมานฉันท์ ความสามัคคี เพื่อร่วมกันทำงานของฝ่ายบริหารและฝ่ายสภาเทศบาลมีเป้าประสงค์เดียวกันคือ นำพาความเจริญ สู่ท้องถิ่นเรา ตามความมุ่งมั่น ความตั้งใจ ของพวกเราที่ได้อาสาประชาชนเพื่อเข้ามาทำงานในฐานะตัวแทนของชาวเทศบาลตำบลเทพวงศา ชาวอำเภอเขมราฐ และชาวไทย ของเราทุกคน สืบไป ขอขอบคุณทุกท่านมา ณ โอกาสนี้ครับ

นายอลงกต แสวงสุข นายกเทศมนตรีตำบลเทพวงศา